ประเด็นร้อน

ปราบคอร์รัปชันทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง จริงไหม?

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 26,2017

 คอลัมน์ การเมืองเรื่องเงินๆ: ปราบคอร์รัปชั่นทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง จริงไหม? 


- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 24/06/60 - -

พัสณช เหาตะวานิช
          
เศรษฐกิจ ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวสำหรับรัฐบาลนี้ หลักๆ ก็คือเรื่องความเชื่อมั่นแหละครับว่า ทีมเศรษฐกิจจะสามารถทำให้ประชาชนรับรู้ได้ว่า "ปากท้อง" ของเขาจะอิ่ม หรือจะอด!
          
ถ้าเอาตัวเลขมหภาคที่รายงานกันทุกเดือนทุกไตรมาสมาดูจะพบว่า มันไม่เลวร้ายนัก ไม่ว่าสำนักไหนๆ ตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช.ไม่ได้แย่ และแน่นอนไม่ห่วยกว่าสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจหลักๆ ซึ่งข้อมูลหาได้จากหน้าข่าวหรือเว็บ สศค.หรือเว็บสภาพัฒน์ ก็หาได้ไม่ยาก
          
แต่ที่น่าปวดหัวคือ เศรษฐกิจส่วนที่เป็น "ปากท้อง" ของคนที่เราจัดเป็น แรงงานนอกระบบ อย่าลืมว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าแรงงานในระบบ จากข้อมูลกลุ่มแรงงานนอกระบบมีกว่า 35 ล้านคน รวมถึงเกษตรกร คนรับจ้างอิสระ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ คนกลุ่มนี้จะสัมผัสได้จากความฝืดเคืองเม็ดเงินที่สะพัดในระบบ และแน่นอนเมื่อเสียงบ่นดังถึงข้างบน ก็ต้องหาทางรับมือดีๆ
          
ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์มีปัญหานี้ตอนที่ราคาน้ำมันโลกแพงทุบสถิติส่งผลให้ค่าครองชีพสูง ต่อมาช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เจอช่วงวิกฤติแพงทั้งแผ่นดิน ที่บริหารนโยบายพลังงานภายในล้มเหลวเอง มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ เหตุผลที่นายกฯ ได้เคยบอกไว้คือ เป็นช่วง "ปราบคอร์รัปชั่น" ทำให้เงินไม่สะพัด!

เราไปดูว่ามันเป็นยังไง "การปราบคอร์รัปชั่นทำให้เศรษฐกิจฝืด...จริงไหม" กับงานเขียนอีกชิ้นของ คุณบรรยง พงษ์พานิช กันต่อเลยครับ...ขอบคุณคุณบรรยง มา ณ ที่นี้อีกครั้งนะครับ
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน (2 มิ.ย.) นายกรัฐมนตรีได้พูดในรายการ "ศาสตร์พระราชา" ว่าที่เศรษฐกิจซบเซาเศรษฐกิจฝืดเคืองอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลนี้เอาจริงกับการปราบคอร์รัปชั่น โดยท่านได้พูดตอนหนึ่งว่า
          
"รัฐบาลและคสช.ยอมรับว่าการปราบปรามการทุจริตและการจัดระเบียบสังคมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผล กระทบต่อการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมีเศรษฐกิจหดตัวฝืดเคือง..."
         
มันเลยเกิดคำถามว่าการปราบคอร์รัปชั่นนั้นมันส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจจริงไหม? และถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะปราบไปทำไม? ผลร้ายที่ว่านั้นเป็นระยะสั้นระยะยาวอย่างไร? ควรจะวางมาตรการอย่างไร? และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเพื่อความอดทนที่จะแลกกับอนาคตที่ดีขึ้นอย่างไร?
          
ในทางทฤษฎีการปราบคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในประเทศในสังคมที่มีระดับการคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงและกว้างขวาง อย่างเช่นประเทศไทยนั้น ย่อมส่งผลกระทบในทางลบให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างแน่นอน แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะต่อไปนั้นย่อมมีค่ามากกว่ามากมายนัก เพราะความเจริญเติบโตที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของคอร์รัปชั่นนั้นย่อมมีแต่ความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพต้นทุนสูงและ ผลประโยชน์กระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรมถึงแม้อาจจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ในระยะสั้น แต่ความอ่อนแอสะสมย่อมทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าหลายเท่าทวีคูณในระยะยาว ไม่เกิดวิกฤติร้ายแรง ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะทำให้ระบบอ่อนแอขาดศักยภาพติดกับดักในที่สุดอย่างที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้
สรุปเบื้องต้นผมสนับสนุนเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าของนายกฯและอยากที่จะสนับสนุนในเชิงเหตุผลเชิงทฤษฎีอีก 4 ประการ ว่าทำไมการปราบคอร์รัปชั่นถึงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
          
1.Samuel Huntington  (1927-2008) นักปราชญ์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของทฤษฎี "Clash of Civilizations" อันโด่งดังเคยกล่าวไว้ว่า "In terms of economic growth, the only thing worse than a society with rigid, overcentralized dishonest bureaucracy is one with rigid, overcentralized honest bureaucracy." ซึ่งผมขอถอดความให้เข้าใจง่ายๆว่า "ในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจระบบเดียวที่แย่กว่าระบบราชการที่เข้มงวดรวมศูนย์รวบอำนาจมีแต่ Red Tape จนต้อง ยัดเงินหล่อลื่นก็คือระบบราชการที่เข้มงวดรวมศูนย์รวบอำนาจและมีแต่ Red Tape แต่ดันซื่อสัตย์ จนเงินซื้อไม่ได้"
          
ซึ่งในแง่นี้ เงินที่เอกชนจ่ายที่เรียกว่า "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" นั้น ก็จะทำหน้าที่เหมือน "น้ำมันหล่อลื่น" (Grease) เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ที่ถูกออกแบบระบบเงื่อนไขให้ซับซ้อนจนขาดการหล่อลื่นไม่ได้สามารถทำงานได้...ทีนี้ถ้ามีเหตุการณ์หรือคำสั่งที่สามารถระงับพฤติกรรมการจ่ายและเรียกรับ "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" ในทันทีทันใด ก็ย่อมทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งใบอนุญาต พึ่งบริการรัฐหยุดชะงักไปหมด เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมมีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะอ้างกฎระเบียบฉบับนั้นฉบับนี้ "ไม่" ให้เอกชนทำอะไรได้ไปเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะยิ่งถ้าต้องใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจให้ความสะดวกให้บริการกับเอกชนกับประชาชนถ้าทำไปก็เท่ากับเพิ่ม "ความเสี่ยง" ให้กับตนเองเสียด้วยซ้ำ ถ้าไม่มี "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" มาจูงใจ ย่อมรักที่จะอยู่เฉยๆ เสียมากกว่า กลไกต่างๆ มันจึงพิกลพิการหยุดนิ่งไปเสียหมด
          
ในประเทศเราที่มีกฎข้อบังคับต่างๆ กว่า 100,000 ฉบับ มีใบอนุญาตกว่า 1,600 ชนิด ซึ่งถ้าจะว่าไปกฎระเบียบจำนวนไม่น้อยก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยตั้งใจที่จะให้มีช่องไว้ "ตบทรัพย์" ชาวบ้านเสียด้วยซ้ำ (OECD แนะนำว่าประเทศจะพัฒนาได้ดีไม่ควรมีใบอนุญาตเกิน 300 ชนิด)
          
ดังนั้นถ้าเราจะปราบคอร์รัปชันไม่ให้มีการจ่ายค่า "หล่อลื่น" เสียเลยทันทีโดยที่ยังไม่มีการไปรื้อไปปรับระบบระเบียบให้ผ่อนคลายโปร่งใสก็ย่อมเป็นเหตุให้กิจกรรมต่างๆ ติดขัดหยุดชะงักไปได้นั่นก็คือ ถ้าจะไม่ให้มีการคอร์รัปชันประเภท "น้ำมันหล่อลื่น" ก็ต้องไปขจัดเงื่อนไข คือไปรื้อระเบียบกฎเกณฑ์ ที่หยุมหยิมเกินจำเป็นไปออกแบบระบบใหม่เครื่องยนต์ใหม่ที่ชัดเจนโปร่งใส ไม่ซับซ้อนไม่ต้องการ "การหล่อลื่น" อีกต่อไป คอร์รัปชันประเภทนี้ถึงจะลดจะหมดไปได้โดยไม่เป็นตัวถ่วงความเติบโตทางเศรษฐกิจ
          
ในเรื่องนี้รัฐบาลนี้ก็ดูจะมีความพยายามอยู่บ้างโดยการออก พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ 2558  กับ พระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ 2558 แต่เอาเข้าจริงกฎหมายทั้งสองออกมาสองปีแล้วก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติสักเท่าใด ความสะดวกยังไม่เกิด การเรียกรับเงินก็ยัง ไม่ค่อยลด จะเลิกยังต้องปรับปรุงกระบวนการให้เกิดประสิทธิผลอีกมากนัก...ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นประโยชน์มากและรัฐบาลตั้งท่าประกาศมากว่าปีแล้วว่า จะทำ คือการใช้กระบวนการที่เรียกว่า RegulatoryGuillotine ที่เคยใช้ได้ผลมากว่าสิบประเทศ มาพิจารณาลดเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย หมดความจำเป็นลงเสียบ้าง แต่ก็มัวแต่รำป้อไปป้อมา ติดขั้นตอนต่างๆที่เยิ่นเย้อมากว่าปี เพิ่งจะ ตั้งกรรมการที่ปรึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมายฯ (ชุดที่ ดร.บวรศักดิ์ เป็นประธาน)เสร็จเมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี่เอง ก็ได้แต่หวังว่ากรรมการที่กว่าจะตั้งได้ด้วยความเยิ่นเย้อชุดนี้ จะสามารถช่วยแก้ความเยิ่นเย้อของกฎหมายไทยลงไปได้บ้าง ก่อนที่นกหวีดหมดเวลาจะดังขึ้น (นี่ก็แอบต่อเวลามาหลายครั้งแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรจริงจังเสียที)
          
2.นอกจากการคอร์รัปชันประเภท "น้ำมันหล่อลื่น" ที่ทำกันอย่างกว้างขวางตามข้อ 1.ข้างต้นแล้ว การคอร์รัปชันประเภทที่เอกชนสามารถ ยัดเงินเพื่อ "ซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขัน" ได้ เช่นการล็อกสเปกในการประมูลขายสินค้าและบริการให้แก่รัฐและรัฐวิสาหกิจการได้สัมปทานหรือโครงการจากรัฐโดยที่ไม่ต้องแข่งขันการได้ภาวะผูกขาดหรือได้เงื่อนไขที่สามารถทำกำไรได้แน่นอนในอัตราที่ดีเกินควรก็ย่อมทำให้เกิดการลงทุนและกิจกรรม ต่อเนื่องทางธุรกิจได้
          
เอกชนนั้นย่อมประกอบธุรกิจและลงทุนถ้ามีความได้เปรียบ ซึ่งความได้เปรียบนั้นอาจมาได้จากการที่ตนมีประสิทธิภาพมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง หรือจากการที่ตนสามารถ "ซื้อหา" สภาวะที่ไม่ต้องแข่งได้ในประเทศไทยนั้น ปีหนึ่งๆ ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมีการซื้อสินค้าและลงทุนรวมกันมากกว่า สี่ล้านๆ บาท คิดรวมถึงกว่า 30% ของ GDP
          
ลองคิดดูว่าถ้าในกระบวนการจัดซื้อและลงทุนของรัฐนั้นมีคอร์รัปชันแฝงอยู่มาก (หลายท่านเชื่อว่ากว่าครึ่งของกระบวนการจัดซื้อและลงทุนภาครัฐ มีการคอร์รัปชันปนอยู่) ซึ่งถ้าเราหยุดไม่ให้มีการคอร์รัปชันเลย กิจกรรมของเอกชนที่เกี่ยวข้องที่เคยค้าขายเคยลงทุนเนื่องมาจากการได้เปรียบโดยการ"ซื้อหา" ได้เช่นนั้นก็ย่อมต้องสะดุดหยุดลง ฉุดให้เศรษฐกิจหยุดชะงักลงไปด้วยเพราะเอกชนไทยไม่น้อยจำต้องค้าขายกับรัฐหรือพึ่งอำนาจรัฐ
          
3.มองกลับไปด้านผู้มีอำนาจในภาครัฐเอง ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ผู้มีอำนาจสูงๆในระดับครม.ที่ท่านว่าไม่มีใครโกงแล้วเท่านั้น แต่หมายรวมไป ถึงกลไกข้าราชการและผู้บริหารกับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งมวลซึ่งก็เป็นที่ทราบดีกันอยู่ว่า มีจำนวนสัดส่วนไม่น้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมั่งคั่งกันมาจากการคอร์รัปชัน ถ้าเกิดมีปัจจัยห้ามโกงกินที่ได้ผลมายับยั้งก็ย่อมแน่นอนที่ถึงจะเกรงกลัวแต่ก็มีความไม่พอใจปนอยู่ และย่อมจะต้องชั่งใจคาดคะเนว่า ปัจจัยที่ว่า (ถ้ามีจริง) นั้นจะอยู่ยั้งยั่งยืนเป็นปัจจัยถาวรหรือจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น...และแน่นอนครับ ถ้ามีโอกาสแม้สักเล็กน้อยที่ว่าการห้ามโกงห้ามกินนั้นอาจเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ถ้าอดทนรอให้ได้สักพักเดียว เงื่อนไขสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่สามารถแบ่งกันกินก็อาจจะกลับมาอีก ก็ย่อมเกิดแรงจูงใจที่อยากจะประวิงอยากจะชะลอโครงการลงทุนจัดซื้อต่างๆ ออกไป หวังว่าสักพักสภาพ "บุฟเฟ่ต์ประเทศไทย" ก็จะกลับมาอีก
          
4.ในประเทศในสังคมที่มีการคอร์รัปชันกันอย่างมากๆ และอย่างกว้างขวางมาเป็นระยะเวลานานย่อมบ่มเพาะให้เกิดเป็น ระบบ (Systemic) ของการโกงกินที่มีกระบวนการแทรกซึมอยู่ทุกจุด มีนวัตกรรมการประสานงานที่ถึงแม้จะไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง จนว่ากันว่าในบางท้องที่บางอุตสาหกรรมที่ค้าขายกับรัฐ แทบไม่เหลือผู้เล่นที่ตรงไปตรงมาอยู่เลย (เช่นในอุตสาหกรรมก่อสร้างและ IT ภาครัฐ) ซึ่งในยามที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจโดยเฉพาะเปลี่ยนระบบเลยอย่างที่มีการปฏิวัติ อาจจะทำให้ระบบการโกงกิน ระบบเครือข่ายที่วางไว้เกิดการสะดุดบ้าง ทำให้กิจกรรมบางอย่างหยุดชะงักชะลอตัวลง...แต่จากประวัติในอดีตพอระบบปรับตัว "คลำทางเจอ" ก็มักสามารถใช้เวลาไม่นานในการต่อติดเข้ากับขั้วอำนาจใหม่ แทรกซึมจนเข้าสู่ขั้วอำนาจได้ในที่สุด
          
ผมเคยเจอวานิชธนากรรุ่นน้องที่มีฝีมือเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ไม่เจอกันร่วมสิบปีพอทักทายถามว่าทำอะไรอยู่เขาก็เล่าว่า ผมเลิกราตลาดการเงินนานแล้วผันอาชีพมาเป็น "นักจบ" พอซักไซร้ว่า "นักจบ" คืออะไร เขาก็อธิบายว่า "ก็คือรับประสานสิบทิศไงครับพี่ จะมีโครงการอะไรต้องการเข้าตรงไหนในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ต้องการอำนาจใคร จุดไหน ผมรับปรึกษาออกแบบ รวมทั้งประสานจัดการให้จบได้แทบทุกเรื่อง ทุกหน่วยงาน lobbyได้ทุกเรื่องตราบใดที่ตกลงราคากันได้" ผมถามว่า "เฮ้ย ยุคนี้เป็นยุคทหารยังทำได้อีกหรือ" เขาก็บอกว่า "ก็ยากอยู่ สะดุดไปพักใหญ่แต่ตอนนี้ ก็พอไหวถึงจะไม่ได้ทุกจุดเหมือนเดิม แต่มันก็ยังกว้างขวางพอได้อยู่ มีอะไรพี่บอกได้นะ ได้ไม่ได้จะแจ้ง" (เรื่องนี้เล่าตามที่ฟังมา จริงไม่จริงพิจารณากันเองนะครับ อย่ามาคาดคั้นเอาหลักฐานกับผม)...นี่แหละครับเรามาไกลถึงจุดนี้แล้วใครว่าประเทศไทยไม่มีนวัตกรรม
          
...จากเหตุผลทั้ง 4 ประการที่ร่ายมาทำให้ผมเห็นด้วยในแง่ที่ว่า ถ้าเราไปหยุดการคอร์รัปชันได้หมดจดอย่างกะทันหันจริง ย่อมมีส่วนฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจจริง แต่การฉุดรั้งที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพราะการเติบโตที่มีคอร์รัปชันเป็นตัวหล่อลื่นนั้น ย่อมนำความฉิบหายใหญ่หลวงมาให้ในอนาคตเป็นแน่
          
ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาท่านกำราบปราบปราม คอร์รัปชันจริงจังแค่ไหน? ระดับการโกงมันลดลงหมดไปจริงๆ หรือเปล่า? และท่านได้วางระบบวางกลไกอะไรเอาไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าวันที่ท่านลุกออกไปแล้วจะไม่มีการโกงกินกันอย่างมโหฬารเช่นเดิมอีก? ซึ่งทั้งหมดนี้ผมคงไม่มีคำตอบ ต้องถามพี่น้องประชาชนพ่อค้านักธุรกิจทั้งหลายที่เคยต้องจ่ายต้องยัดเงินว่าความร้อนแรงของคอร์รัปชันมันลดมันเพิ่มอย่างไรในจุดไหน
          

ความจริงถ้าท่านตั้งใจจะปราบคอร์รัปชันจริงตั้งใจที่จะออกมาตรการวางระบบเพื่อลดโกงกินทั้งระยะสั้นระยะยาวจริงผมคิดว่ารัฐบาลสามารถบอกประชาชนให้ชัดเจนได้ ถึงแม้จะขอให้ทุกคนต้องอดทนที่จะยอมแลกกับผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ผมก็คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้แต่ขอให้ทำจริงจังมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจได้อย่าลูบหน้าปะจมูกก็แล้ว